พิธีลอยอังคาร
พิธีลอยอังคาร…ส่งดวงวิญญาณสู่ความสงบสุขร่มเย็น
ความเชื่อเรื่องการลอยอังคาร
คำว่า “อังคาร” ในที่นี้ หมายถึง เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว พิธีลอยอังคาร จึงหมายถึง การนำเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพไปลอยในแม่น้ำ ด้วยความเชื่อและคตินิยมของคนไทยที่มีมาช้านานว่า การลอยยอังคาร จะช่วยส่งดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดี ที่ที่มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เหมือนดั่งสายน้ำที่มีความชุ่มเย็นอยู่เป็นนิจ นอกจากนี้ ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการสร้างเมรุหรือตะกอนเผาศพ เถ้าถ่านและกระดูกที่เหลือจากการเผาศพนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะขาวโพลนอยู่กลางลานวัดหรือป่าช้า ถูกผู้คนเหยียบย่ำและถูกสัตว์คุ้ยเขี่ยเป็นที่อุจาดตา จึงต้องเก็บให้เรียบร้อยแล้วนำไป ลอยในแม่น้ำทั้งหมด บ้างก็ลอยแค่ส่วนหนึ่งและเก็บไว้บูชาส่วนหนึ่ง ส่วนที่เก็บไว้บูชานี้ ก็คือกระดูกหรือที่เรียกว่า อัฐิ โดยจะเก็บไว้ในโกฐ และส่วนที่นำไปลอยน้ำ ก็คือขี้เถ้า หรือที่เรียกว่า อังคาร นั่นเอง
เกี่ยวกับที่มาของพิธีลอยอังคารนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดียผู้นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคา จึงพากันนำกระดูกและเถ้าถ่านที่เหลือ จากการเผาศพทิ้งลงสู่แม่น้ำ เพราะเชื่อว่าการสัมผัสแม่น้ำคงคา จะช่วยชำระบาปและทำให้ได้ขึ้นสวรรค์
หากคิดในแง่พระพุทธศาสนา การลอยอังคาร เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการละวางทั้งปวง ทั้งร่างกายและสังขาร อันเกิดจากการรวมกันของธาตุต่าง ๆ เมื่อแตกดับก็หลงเหลือเพียงผงธุลีที่ฝากไว้ในอากาศ ในดิน และในน้ำ เป็นการกลับคืนสู่บ้านอันนิรันดร์และแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งมวล
อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีลอยอังคาร แบ่งเป็น ๓ ชุด ดังนี้
๑. เครื่องไหว้แม่ย่านาง ได้แก่
ดอกไม้สด ๑ กำ หรือพวงมาลัย ๑ พวง
ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
พานเล็ก ๑ ใบ (สำหรับใส่ดอกไม้ธูปเทียน)
เชือก ๑ เส้น (สำหรับมัดธูปและดอกไม้ ไว้ที่เสาหัวเรือ)
๒. เครื่องบูชาเจ้าแม่นทีและท้าวสีทันดร ได้แก่
กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง
ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม
พานโตก ขนาดกลาง ๑ ใบ (สำหรับใช้วางกระทงดอกไม้ ๗ สี)
๓. เครื่องไหว้อังคารบนเรือ
ลุ้งใส่อังคาร และผ้าขาวสำหรับห่อลุ้ง
พวงมาลัย ๑ พวง
ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่น ๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)
น้ำอบไทย ๑ ขวด
ดอกกุหลาบ เท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี
ธูปเทียนเครื่องทองน้อย ๑ ชุด (หรือธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม พร้อมกระถางธูปเชิงเทียน ๑ ชุด)
สายสิญจน์ ๑ ม้วน
พานโตกขนาดกลาง ๑ ใบ (สำหรับรองลุ้งอังคาร)
พานก้นลึกขนาดเล็ก ๑ ใบ (สำหรับใส่ดอกไม้ต่าง ๆ)
พานก้นตื้น ๑ ใบ (สำหรับใส่เงินเหรียญ)
สถานที่ที่นิยมไปทำพิธีลอยอังคาร
1. ปากอ่าว / ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ
มีทั้งเรือของราชการและเอกชนให้บริการทำพิธีแบบพร้อมสรรพ โดยเจ้าภาพจะนำเฉพาะอัฐิและอังคาร พร้อมด้วยเหรียญจำนวน ๗ เหรียญ เพื่อซื้อที่ให้กับผู้วาายชนม์ตามประเพณีโบราณ
ในกรณีจะไปลอยเองหรือทำพิธีเอง มีบริการให้เช่าเรือที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ หรือท่าเรือวิบูลย์ของท่าเรือข้ามฟากไปวัดพระสมุทรเจดีย์โดยไม่ต้องจองเรือ
หมายเหตุ จุดที่นิยมลอยอังคาร คือ ทุ่นที่ ๓๑ เยื้องวัดอโศการามและป้อมพระจุลจอมเกล้า
ติดต่อสอบถามได้ที่ น.อ. วิโรจน์ พิศเพ็ง อนุศาสนาจารย์ โทรศัพท์ ๐๘๙-๗๖๖๘๔๐๐
2. หน้าวัดหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา
ร้านเช่าเรือวินัยบริการ
ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านอาหารชวนมา หน้าพระอุโบสถหลวงพ่อโสธรหลังใหม่ โดยสามารถเข้าทางตลาดสดวัดโสธร และสามารถนำรถมาจอดภายในตลาดได้
มีเรือให้เลือก ๒ แบบ ดังนี้
1. เรือยนต์ขนาดกลาง ๖-๘ ที่นั่ง
2. เรือเมล์ขนาดใหญ่ ๑๐-๒๕ ที่นั่ง
มีเสื้อชูชีพไว้บริการเพื่อความปลอดภัย
ติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวินัย วงษ์นิ่ม โทรศัพท์ ๐๘๗-๖๐๖๘๗๐๙, ๐๘๖-๘๒๘๓๐๓๕ ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และสามารถโทรจองล่วงหน้าได้
3. ท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ให้บริการโดยฐานทัพเรือสัตหีบ มีเรือ ๒ ลำ คือ
1. เรือ ฐท.สส.๑๖ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ ๒๕ คน
2. เรือ ฐท.สส.๑๔ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ ๔๐ คน
ดอกไม้สำหรับประกอบพิธีชุดเล็ก , ชุดใหญ่
ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ทำพิธีโดยอนุศาสนาจารย์ของฐานทัพเรือสัตหีบ
ติดต่อสอบถามได้ที่ น.ท.สมปอง วัฒนกูล โทรศัพท์ ๐๘๖-๑๐๐๗๑๔๒, ๐๘๔-๐๙๖๑๘๘๑


