[vc_row][vc_column][vc_column_text]ชีวิต…หลังความตาย
เมื่อยามที่ยังมีชีวิตอยู่ เรามักไม่ได้คิดถึงเรื่องความตายอย่างลึกซึ้งว่าคนเราตายแล้วไปไหน ตายแล้วจะได้เกิดอีกหรือไม่ และนรกสวรรค์มีอยู่จริงหรือ คนส่วนใหญ่คิดและเชื่อเพียงว่า เมื่อตายแล้ววิญญาณของเราจะยังคงวนเวียนอยู่ แต่มีน้อยคนที่จะคิดต่อว่า ในเมื่อวิญญาณของเรายังคงอยู่ หลังความตายเราจะไปที่ใดต่อและต้องพบเจอกับสิ่งใดบ้าง นี่ยังคงเป็นปริศนาหลังความตายที่น่าสนใจและยังไม่มีใครให้คำตอบที่แน่ชัดได้ ในทางพระพุทธศาสนา องค์พระสัมมาสัมพุพธเจ้าได้ทรงกล่าวถึงความตายไว้ว่า ความตายที่แท้จริงนั้นไม่มี การที่ร่างกายเสื่อมสลายหายไป เป็นเพียงการแตกสลายแยกกันไปของธาตุที่เคยรวมกันอยู่ เหลือเพียงดวงจิตของเราซึ่งจะท่องไปตามเหตุ ตามกรรม ในต่างวาระ นั่นก็คือการเวียนว่ายตายเกิด หรือที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” โดยเชื่อว่าคนเราทุกคนล้วนเคยเกิดมาแล้วทั้งสิ้นนับครั้งไม่ถ้วน ในภพภูมิที่ดีบ้างและไม่ดีบ้างตามกฏแห่งกรรมหรือผลของการกระทำที่ได้ทำไว้ทั้งดีและชั่ว หากยังประกอบกรรมชั่วไว้มาก จิตยังมีกิเลสอยู่มาก ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้นในภพภูมิที่ต่ำซึ่งมีแต่ความทุกข์ทรมาน หากประกอบกรรมดีมากขึ้น รู้จักขัดเกลาจิตให้ละกิเลสได้มากขึ้น ก็จะทำให้ไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นซึ่งมีความประเสริฐสุขมากขึ้น และหากประกอบแต่กรรมดี สามารถอบรมจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากซึ่งกิเลสทั้งมวล ก็จะได้ “นิพพาน” นั่นคือการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งถือเป็นความสุขอันแท้จริงยิ่งใหญ่และเป็นจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ได้ถูกหลอมรวมผสานผสมกลมกลืนเข้ากับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ “ไตรภูมิพระร่วง” ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ที่มีอิทธิพลต่อพระพุทธศาสนาในไทยมาตลอดช่วงเวลา ๗๐๐ ปี โดยการสร้างภาพความน่ากลัวของนรกและภาพความสมบูรณ์พูนสุขในสวรรค์ ให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ใครทำดีก็จะได้ขึ้นสวรรค์หรือหากเกิดใหม่ในชาติหน้าก็จะพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ส่วนใครที่ทำความชั่ว ชอบก่อกรรมทำเข็ญ ก็จะต้องตกนรกหมกไหม้ หรือหากได้เกิดใหม่ในชาติหน้าก็จะมีแต่ความทุกข์ทรมาน และนี่ได้กลายเป็นแก่นของคติความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายและความเชื่อเรื่องภพชาติหน้าซึ่งได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างของความเชื่อในลักษณะต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้ให้ไว้เป็นวิทยาทาน เรื่องที่ ๑
ไขปริศนาชีวิต ๔๙ วัน หลังความตาย
มนุษย์และสัตว์มิได้สิ้นสุดที่ความตาย เพราะการ “ตาย” หมายถึง สภาพร่างกายที่ไม่สามารถให้บริการแก่จิตหรือวิญญาณได้อีกต่อไป ถึงแม้ร่างกายจะหมดอายุขัยไปแล้ว แต่วิญญาณจะยังคงอยู่ ดวงวิญญาณที่ออกจากร่าง ในช่วงแรกจะยังคงวนเวียนอยู่บริเวณนั้น พอได้สติก็จะมีมัจจุราชทำหน้าที่มานำเอาวิญญาณที่ชะตาถึงฆาตนั้นไปยังยมโลก เพื่อตรวจสอบบาปบุญความดีความชั่วที่ได้ทำไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ วิญญาณที่ทำบาปจะถูกนำตัวส่งไปนรก ๘ ขุมใหญ่ แต่ะละขุมแบ่งย่อยออกเป็น ๓๖ แห่ง แต่ละแห่งจะมีการลงทัณฑ์และทรมานอีก ๘๐๐ ด่าน แต่ละด่านมีเครื่องทรมานนับไม่ถ้วน วิญญาณบางดวงอาจตกนรกทั้ง ๘ หลุมเลยก็มี โดยเฉพาะคนที่ทำกรรมชั่วมหันต์ หรือเรียกว่า “อนันตริยกรรม” มีอยู่ ๕ อย่าง คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ยุยงให้สงฆ์แตกแยก และ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด
หลังจากที่คนเราตายประมาณ ๑-๒ วัน ปกติแล้วเราจะไม่รู้ว่าตัวเองตายกระทั่งจนถึงวันที่ ๗ จึงจะรู้ว่าตัวเองตายแล้ว จากนั้นวิญญาณจะถูกกักบริเวณไว้ ๔๙ วัน เพื่อรอการพิจารณาคดี ในระหว่างนั้นผู้ตายก็จะรอการอุทิศบุญกุศลจากลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่
ปรากฏการณ์ ชีวิต ๔๙ วัน หลังความตาย นับตั้งแต่ที่วิญญาณของผู้ตายออกจากร่าง เป็นการเปิดฉากชีวิตหลังความตายขึ้นในโลกที่ผู้ตายต้องเข้าไปเพียงลำพังแต่ตัวเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่สามารถเอาติดตัวจากโลกมนุษย์ไปได้ นอกจากบาปกับบุญที่ได้ทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
ระยะเวลา ๔๙ วัน ของชีวิตหลังความตาย แบ่งออกที่ละ ๗ วัน จึงทั้งหมด ๗ รอบ ดังนี้
๗ วัน รอบแรก วิญญาณผู้ตายต้องเดินผ่านดงหมาป่า ซึ่งมีฝูงหมาป่าที่ดุร้ายเหมือนเสือคอยขวางทางอยู่ เมื่อวิญญาณที่มีบาปไปถึงก็จะเกิดความหวาดกลัวไม่กล้าเดินต่อไป ฝูงหมาป่าเห็นดังนั้นก้กระโจนเข้าขย้ำขบกัดจนเลือดท่วมตัวและกรีดร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด ส่วนวิญญาณที่ประกอบกรรมดี เมื่อมาถึงดงหมาป่าก็จะมีหมู่เทวทูตคอยพิทักษ์คุ้มครอง พวกหมาป่าได้แต่นิ่งเฉย ไม่กล้าทำอันตราย วิญญาณนั้นจึงผ่านไปได้อย่างปลอดภัย
๗ วัน รอบที่สอง เมื่อวิญญาณผู้ตายมาถึงด่านประตูผี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้รักษาด่านดูแลอยู่ หากเห็นเป็นวิญญาณบาปก็จะทุบตีอย่างไม่ปราณีและยังมีพวกเจ้ากรรมนายเวรพากันมาทวงหนี้ ส่วนวิญญาณผู้ประกอบกรรมดี เมื่อมาถึงจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและสามารถผ่านด่านนั้นไปได้โดยปลอดภัย
๗ วัน รอบที่สาม เมื่อวิญญาณผู้ตายมาถึงยมโลก ถ้าเป็นวิญญาณบาปก็จะถูกโซ่ตรวนไว้และถูกบังคับนำไปอยู่ตรงหน้าหอกระจกส่องกรรม ยามที่มีชีวิตอยู่ได้ทำความชั่วอะไรไว้ ภาพเหล่านั้นก็จะปรากฏขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็จะถูกคุมตัวไปรับการพิจารณาโทษ แม้วิญญาณบาปจะเริ่มสำนึกผิดจากการได้ดูภาพในกระจก แต่ก็สายเกินไปและไม่สามารถลดล้างความชั่วที่เคยทำไว้ได้ ส่วนวิญญาณผู้ประกอบกรรมดี เมื่อมาถึงจะได้รับการต้อนรับโดยมีเจ้าหน้าที่พาไปท่องเที่ยวดูนรกขุมต่าง ๆ และพาไปดูสภาพของบรรดาญาติพี่น้องผู้ที่ทำบาปซึ่งกำลังรอคอยการพิจารณาตัดสินความผิด
๗ วัน รอบที่สี่ เมื่อวิญญาณผู้ตายมาถึงด่านภูเขากระดาษเงินกระดาษทอง การจะขึ้นไปบนภูเขาลูกนี้ยากลำบากมาก กระดาษเหล่านี้ได้มาจากลูกหลานญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์หลงงมงายเผาส่งไปให้ ทับถมกันจนเป็นภูเขาเลากา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วแม้ผู้ตายจะได้รับก็ไร้ประโยชน์
๗ วัน รอบที่ห้า วิญญาณผู้ตายจะเดินทางมาถึงหอดูบ้านเดิม ได้เห็นลูกหลาน คนในครอบครัวต่างไว้ทุกข์ด้วยความโสกเศร้าเสียใจกับการตายของตน ถึงตอนนี้จึงได้รู้แน่ชัดว่าตนเองได้ตายแล้ว ไม่อาจกลับบ้านได้อีก จึงได้แต่เสียใจอาลัยอาวรณ์
๗ วัน รอบที่หก วิญญาณผู้ตายจะมาถึงด่านคุมบัญชี ยมบาลจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูบาปบุญที่ผู้ตายได้สร้างสมไว้ตอนมีชีวิต หลังจากหักลบกันแล้ว ถ้าบุญมีมากกว่าบาปก็จะให้ไปเกิดยังสุคติภูมิ ถ้าบาปมีมากกว่าบุญ ก็จะส่งไปยังนรกภูมิ เพื่อรับความทุกข์อย่างเวทนา
๗ วัน รอบสุดท้าย วิญญาณผู้ตายจะมาถึงด่านตรวจสอบ ซึ่งอยู่ถัดต่อเนื่องมาจากด่านคุมบัญชียมบาลก็จะสั่งเลขาให้ตรวจสอบดูว่า ผู้ตายตอนมีชีวิตอยู่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือไม่ ถ้าได้ถือศีลกินเจ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ก็ลหุโทษ (ลดโทษให้เบาลง) ถ้ามัวหลงผิดฆ่าสัตว์เพื่อความสุขของปากท้องก็จะเพิ่มโทษเป็นเท่าตัว
เรื่องที่ ๒
“ตายแล้วไม่ดับสูญ”
โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) “….พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างละเอียดว่า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ทางไปก็มี ๕ สาย ส่วนจะไปเกิดในที่ใดก็จะเป็นไปตามกฎของกรรมคือการกระทำ ได้แก่ความความประพฤติดีหรือชั่วในสมัยที่ยังเกิดเป็นมนุษย์นี้เอง
1. อบายภูมิ ได้แก่ เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์เดรัจฉาน
แดนเกิดที่เรียกว่า อบายภูมิ หรือนรกนั้น เป็นผลจากการประพฤติชั่ว คือก่อกรรมทำเข็ญในสิ่ง
ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ แบ่งเป็น ๕ ประการ (การละเมิดศีล ๕) อันได้แก่
- เป็นคนมีใจโหดร้าย ชอบข่มเหงรังแก เบียดเบียนคนและสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อนโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความดี หมายถึง ละเมิดศีลข้อที่ ๑
- มือไว ชอบลักขโมยของที่เจ้าของยังไม่อนุญาต หรือฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของคนอื่นด้วยเล่ห์กลโกง หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๒
- ใจเร็ว ได้แก่ มีจิตใจไม่เคารพในความรักของคนอื่น ชอบลอบทำชู้ บุตร ภรรยาและธิดา สามี ของคนอื่นด้วยความมัวเมาในกามคุณ หมายถึงละมิดศีลข้อที่ ๓
- พูดปด ได้แก่ พูดไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อหวังทำลายประโยชน์ของผู้อื่นโดยเจตนา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่
- ชอบทำตนให้เป็นคนหมดสติ ด้วยการย้อมใจให้หมดความรู้สึกในการับผิดชอบด้วยน้ำเมา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๕
2. เกิดเป็นมนุษย์
ท่านว่าคนที่ตายแล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้งได้ ต้องมีกรรมบถ ๑๐ หรือเป็นคนมีศีล ๕
รักษาศีล ๕ เป็นประจำ อันได้แก่
- เป็นคนมีเมตตาปราณี ไม่รังแกข่มเหงทำร้ายใครไม่ว่าคนหรือสัตว์ มีความรักเมตตาปราณีคนและสัตว์เสมอด้วยตนรักตนเอง
- ไม่มือไว คือ เคารพสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ยอมถือเอาทรัพย์สินของใครมาเป็นของตน ในเมื่อเจ้าของยังไม่อนุญาตด้วยความเต็มใจ
- ไม่ใจเร็ว ละเมิดความรักในบุตร ธิดา ภรรยา สามีของบุคคลอื่น
- ไม่เป็นคนไร้สัจจะ พูดแต่เรื่องที่เป็นสาระ ตรงต่อความเป็นจริง
- ทำตนให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คือ เป็นคนมีอารมณ์รับรู้ความดีความชั่ว
ตามกฎของกรรม ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยด้วยน้ำเมาต่าง ๆ
3. เกิดเป็นเทวดาหรือเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์
อาการที่ทำให้คนเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ ท่านได้บรรยายไว้มาก แต่เมื่อสรุปกล่าว
โดยย่อมี ๒ อย่าง คือ
- เป็นคนมีความละอายต่อความชั่ว ไม่ยอมทำชั่วในที่ทุกสถาน
- เกรงผลของชั่ว จะทำให้เกิดความเดือดร้อน
4. เกิดเป็นพรหม ในพรหมโลก
พรหมกับเทวดามีดินแดนเกิดคนละแดนกัน พรหม ท่านว่าศักดิ์ศรีดีกว่าเทวดาและมีชั้นภูมิสูง
กว่า มีอำนาจมากกว่า มีความสุขดีกว่า ความสวยงดงามก็ดีกว่าเทวดา แต่พรหมไม่มีเพศคือไม่มีเพศหญิงเพศชาย ทั้งนี้เพราะพรหมไม่มีการครองคู่ อยู่โดดเดี่ยวอย่างพระสงฆ์ตามวัด คือไม่มีภรรยาสามี ท่านว่ามีความสุขสงบสงัด ท่านที่จะเป็นพรหมได้ ต้องเป็นกรรมฐานและมีอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย อารมณ์จิตเป็ฯฌานที่เรียกว่า เข้าฌานกตาย
5. ไปสู่พระนิพพาน
แดนนี้เป็นเขตที่รู้เรื่องกันยากมาก เพราะนักปราชญ์สมัยนี้ถือว่า “นิพพานสูญ” ขอกล่าวย่อ ๆ
ว่า คนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องมีความบริสุทธิ์ ๑๐ อย่าง คือ
- ไม่เมาในตนเองหรือวัตถุต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นสมบัติของตน รู้สึกว่าจะต้องตายและพลัดพรากจากของรักของชอบใจแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะมาห้ามความตายและความพลัดพรากได้ ทำจิตใจเป็นปกติเมื่อมีความตายมาถึงหรือเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก
- ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าสิ่งที่มีชีวิตต้องทำลายตนเองลงในเมื่อกาลเวลามาถึง ไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติอยู่ได้ ใครทำความดี ความดีก็คุ้มครองให้มีความสุขใจ ใครทำชั่ว ความชั่วจะบันดาลความเดือดร้อนให้ แม้ผู้อื่นไม่ลงโทษ ตนเองก็มีความหวาดสะดุ้งเป็นปกติ
- รักษาศีลมั่นคง ดำรงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ
- ทำลายความรักใคร่ในกามารมณ์ให้สิ้นไปจากใจ ด้วยอำนาจความรู้ถึงความจริง รู้ว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภัยอันตรายที่มีขึ้นแก่ตนเพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ
- มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตาปราณี ไม่โกรธไม่จองล้างจองผลาญคิดทำอันตรายใคร ไม่ว่าใครจะแสดงอาการอย่างไร จิตก็ไม่คลายจากความเมตตา
- ไม่มัวเมาในรูปฌาน โดยคิดว่าการที่ตนทรงรูปฌานได้นี้ เป็นผู้ถึงที่สุดของความดี เมาฌานจนไม่สนใจความดีที่ตนยังไม่ได้
- ไม่มัวเมาในอรูปฌาน โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นทางสิ้นทุกข์
- มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่คิดถึงเรื่องอารมณ์เหลวไหล มีจิตใจเต็มไปด้วยความหวังดี ไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่
- ไม่ถือตน ทะนงตน ว่าดีเลิสประเสริบกว่าใคร และมีอารมณ์ใจเป็นปกติ เห็น คน สัตว์ ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของธรรมดาที่ต้องตายสลายไป และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหว เมื่อเข้าสังคมสมาคมใด ๆ มีอาการเป็นเสมือนว่าสังคมนั้น สมาคมนั้น ๆ เป็นกลุ่มของคนที่ต้องตาย ไม่ทำตัวใหญ่หรือเล็กจนน่าเกลียด ทำตนพอเหมาะพอสมควรแก่สมาคมนั้น ๆ เรื่องของเขา เขาจะดีจะชั่วก็ตัวของเขา เราช่วยได้เราก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็เฉยไว้ ไม่สนใจที่จะไปเบ่งบารมีทับใคร
- ตัดความรักความพอใจในโลกีย์วิสัยให้หมด งดอารมณ์อยากดีอยากเด่น ทพอารมณ์เป็นพระพุทธในพระอุโบสถ พระพุทธท่านยิ้มเสมอ ท่านที่จะถึงพระนิพพานต้องยิ้มได้อย่างพระพุทธ ใคครจะดีจะชั่วก้ยิ้ม เพราะเห็นเป็นของะรรมดามันหนีไม่ได้ไล่ไม่พ้น เมื่อยังมีตัวมีตนเป็นใครมันก็ต้องตาย พบอาการอย่างนี้อยู่ก็สบายใจ ความตายจะมาถึงก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัว เพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย มีอารมณ์ใจปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพัน ทรัพย์สินหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้ฃ
ในท้ายสุด พระราชพรหมยานยังได้ฝากข้อคิดไว้เพื่อคลายความสงสัยของหลายคนที่อาจจะยังสงสัย ว่า แล้วจะมีทางใดพิสูจน์ได้ว่า คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุธเจ้านั้นเป็นความจริง ซึ่งท่านได้ให้คำตอบว่า ทางพิสูจน์ก็คือ ฟังคำสอนเหล่านี้แล้วต้องไม่ใช่แค่ฟังแล้วก็เอาไปคุยอวดกันว่ารู้มาก แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริง จึงจะเห็นผล และตัวท่านเองที่จะเป็นผู้เห็นผลนั้น
เรื่องที่ ๓
นรก – สวรรค์
จากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไท พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยผู้มีพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้งในด้านพระพุทธศาสนา โดย ทรงรวบรวมข้อความต่าง ๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา อันได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์ต่าง ๆ มาเรียบเรียงขึ้นเป็นวรรณคดีโลกศาสตร์เล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวไทย เช่น นรกสวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ การล้างโลก และพระศรีอาริย์ เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องนรกสวรรค์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนได้เป็นอย่างดี และได้กลายเป็นกุศโลบายอันเยี่ยมยอดที่ถูกนำมาเป็นเครื่องช่วยในการปกครองประชาชนที่มากขึ้นในสมัยนั้น โดยการสอนให้คนทำความดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ มีชีวิตที่สุขสบาย แต่หากใครทำความชั่ว ก็จะต้องตกนรก ได้รับความทุกข์ทรมาน และนี่ได้กลายเป็นคติความเชื่อหลักที่ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันแม้เวลาจะเปลี่ยนผ่านไปหลายยุคหลายสมัยแล้วก็ตาม
ในคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง ได้แบ่ง ภูมิ หรือ แดน ต่าง ๆ ในจักรวาลออกเป็น ๓ ภูมิใหญ่ ๆ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นที่อยู่ ที่ตั้ง ที่เกิดของมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และเทวดา โลกมนุษย์ของเรารวมทั้งนรกและสวรรค์จะอยู่ในส่วนของกามภูมิ ซึ่งประกอบด้วยภูมิต่าง ๆ ๑๑ ภูมิ อยู่เรียงกันตามลำดับต่ำไปหาสูง ดังนี้
- นรกภูมิ
- เปรตวิสัยภูมิ
- อสุรกายภูมิ
- ติรัจฉานภูมิ
- มนุสสาภูมิ
- จาตุมหาราชิกา
- ดาวดึงส์
- ยามาภูมิ
- ดุสิตาภูมิ
- นิมมานรดีภูมิ
- ปรนิมิตวสวัตติภูมิ
นรกภูมิ ก็คือ นรก ซึ่งเชื่อว่าอยู่ลึกลงไปใต้แผ่นดินของโลกมนุษย์ หรือ มนุสสาภูมิ ที่เราอยู่นี้ ส่วนแดนที่เรียกว่า สวรรค์ จะอยู่สูงขึ้นไปจากโลกมนุษย์ มีด้วยกันทั้งหมด 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นแรก ไปจนถึง ปรนิมิตวสวัตติภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่หกซึ่งเป็นชั้นสูงสุด นี่จึงเป็นที่มาของสำนวนไทยที่ว่า มีความสุขเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ชั้นเจ็ด เป็นการอุปมาให้เห็นว่ามีความสุขมากเหลือเกินยิ่งกว่าได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงสุดเสียอีก
นรก หรือ นรกภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ต่ำสุดในกามภูมิ ประกอบด้วย มหานรก ๘ ขุม แต่ละขุมมีนรกบ่าว (อุสสทนรก) อยู่รายรอบทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 4 ขุม รวมเป็น ๑๒๘ ขุม และมียมโลกนรก รายรอบทั้ง 4 ทิศ ทิศละ ๑๐ ขุม รวมเป็น ๓๒๐ ขุม
มหานรก ๘ ขุม มีลักษณะเป็นกำแพงเหล็กแดงลุกเป็นไฟล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยม ทั้งพื้นบนและพื้นล่างก็เป็นเหล็กแดงที่มีไฟลุกอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน กำแพงทั้งสี่ด้าน ยาวด้านละ ๑,๐๐๐ โยชน์ หนา ๙ โยชน์ พื้นบนและพื้นล่างก็หนาถึง ๙ โยชน์ มีประตูเข้า ๔ ประตู โดยลักษณะของมหานรกทั้ง ๘ ขุม สามารถสรุปได้ ดังนี้
หมายเหตุ ๑ โยชน์ เท่ากับ ๑๖,๐๐๐ เมตร (๑๖ กิโลเมตร)
ลำดับ |
ชื่อ |
การลงโทษ |
ขุมที่ ๘ |
มหาอเวจีนรก |
ถูกตรึงศีรษะ แขน ในอิริยาบถหรือท่าทางที่เป็นอยู่ในขณะที่ทำบาปนั้น (นั่ง ยืน นอน ฯลฯ) มีหลาวเหล็กแทงทะลุลำตัว มีไฟนรกครอกตลอดเวลา แต่จะไม่ตายจนกว่าจะครบ ๑ กัลป์ (วัดเป็นเวลาไม่ได้) |
ขุมที่ ๗ |
มหาตาปนรก |
ทำให้ถูกตกจากภูเขาสูงลงมาสู่พื้นที่มีแต่เหล็กแหลมยาว ถูกเหล็กเสียบทะลุลำตัว มีไฟครอกตลอดเวลา แต่จะไม่ตายจนกว่าจะครบ ครึ่งกัลป์ |
ขุมที่ ๖ | ตาปนรก (นรกแห่งความเร่าร้อน) |
ถูกไล่ให้ขึ้นไปที่ปลายหลาวที่มีไฟนรกลุกโชน ทำให้ถูกไฟครอกจนสุกพอง และกลายเป็นอาหารของสุนัขนรก จากนั้นจะถูกลมพัดให้ฟื้นขึ้นมาและรับบทลงโทษเช่นเดิมวนเวียนไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา ๑๖,๐๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์) |
ขุมที่ ๕ |
มหาโรรุวนรก |
ต้องยืนบนบัวเหล็กที่กลีบคม มีไฟนรกแผดเผา มียมบาลใช้กระบองกระหน่ำตีร่าง แต่จะไม่เสียชีวิต จนกว่าจะครบ ๗,๐๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๒,๓๐๕ ล้านปีมนุษย์) |
ขุมที่ ๔ |
โรรุวนรก |
ถูกไฟนรกครอกในบัวเหล็กในท่านอนคว่ำหน้า เเป็นเวลนาน ๔,๐๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๕๗๖ ล้านปีมนุษย์) |
ขุมที่ ๓ |
สังฆาฏนรก |
ถูกยมบาลล่ามเข้าด้วยกัน แล้วใช้ฆ้อนเหล็กยักษ์ทุบร่างกายจนแหลกไป จากนั้นจะมีลมพัดให้ฟื้นขึ้นมารับโทษใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้เป็นเวลา ๒,๐๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๑๔๕ ล้านปีมนุษย์) |
ขุมที่ ๒ |
กาฬสุตตนรก |
ถูกยมบาลฟาดด้วยด้ายนรก ซึ่งมีขนาดและแข็งเท่าเหล็กเส้นใหญ่ ๆ แล้วใช้เลื่อยนรกเลื่อยให้ขาดเป็นท่อน ๆ ผู้ที่หนีจะถูกเหล็กนรกปลิวออกมาตัดร่างกาย จนตาย และมีลมพัดให้ฟื้นขึ้นใหม่เพื่อรับโทษเช่นเดิมอย่างนี้เป็นเวลา ๑,๐๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๓๖ ล้านปีมนุษย์) |
ขุมที่ ๑ |
สัญชีพนรก |
ถูกยมบาลจับนอนบนแผ่นเหล็กร้อนแดง ถูกฟันร่างให้ขาดเป็นท่อน ๆ และเฉือนเนื้อหนังจนเหลือแต่กระดูกและตายไป จากนั้นลมจะพัดให้ฟิ้นมารับโทษใหม่ วนเวียนไปเช่นนี้เป็นเวลา๕๐๐ ปีนรก (๑ วัน ๑ คืน เทียบเท่า ๙ ล้านปีมนุษย์) |
ในมหานรกทั้ง ๘ หลุมนี้ ได้มีการกล่าวถึงลักษณะการกระทำอันเป็นเหตุให้ตกนรกหลุมต่าง ๆ ไว้เฉพาะนรกขุมที่ ๑ คือ สัญชีพนรก (ฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทั้งด้วยตนเอง และมอบอาวุธให้ผู้อื่นทำ เป็นโจรปล้นฆ่า ข้าราชการที่กดขี่ข่มเหงชาวบ้าน โกงกิน ขาดความยุติธรรม) และ นรกขุมที่ ๘ มหาอเวจีนรก (กระทำอนันตยริกรรม ๕ ประการ ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด ยุยงสงฆ์ให้แตกแยก) ลักษณะการลงโทษอย่างละเอียดนั้น จะกล่าวไว้ในส่วนของนรกบ่าว ทั้ง ๑๖ ขุม ดังนี้
ชื่อ |
ลักษณะบาปกรรมที่เคยกระทำ |
โทษที่ได้รับ |
ไพตรณีนรก | โลภอยากได้ของของผู้อื่น ชิงเอาทรัพย์สินผู้อื่น |
ถูกอาวุธมีคมซึ่งเป็นเหล็กเผาไฟจนร้อนทำร้ายจนต้องหนีลงแม่น้ำชื่อไพตรณี ซึ่งในน้ำมีขวากเหล็กกวาดไปมาทำให้ตัวขาดเป็นท่อน ๆ ห้อยร่องแร่งแล้วมีไฟมาเผาจนไหม้ เมื่อหล่นลงไปจะมีบัวเหล็กร้อนจนมีเปลวไฟลุกคอยเผาไหม้ และเมื่อหล่นลึกลงไปอีกก็จะเจอน้ำเค็มที่จะกัดดบาดแผลให้ปวดแสบแสนสาหัส ใต้น้ำเค็มนั้นยังมีมีดคมร้อนเป็นไฟทั้งบาดทั้งเผาให้เนิ้อตัวขาดวิ่น |
สุนักขนรก | กล่าวคำหยาบคำร้ายต่อพ่อแม่ สมณพราหาณ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ ครูบาอาจารย์ | มีฝูงหมาตัวโตเท่าช้าง และฝูงแร้งกาตัวโตเท่าเกวียนซึ่งมีปากและเล็บลุกเป็นไฟ รุมเข้ากัดจิกฉีกอกและร่างกายออกเป็นชิ้น ๆ |
โสรชตินรก | กล่าวร้ายแก่ผู้มีศีล | มียมบาลถือฆ้อนเหล็กใหญ่ขนาดเท่าต้นตาลไล่ตี ให้วิ่งหนีวนอยู่บนแผ่นเหล็กแดงที่ลุกเป็นไฟอยู่ตลอดเวลาจนร่างกายถูกเผาเป็นจุณ แล้วก็ฟื้นคืนมาใหม่เพื่อมารับโทษวนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ |
อังคารกาสุมนรก | ชักชวนผู้อื่นมาทำบุญแล้วเอาเงินนั้นมาเป็นของตน ไม่ได้เอาไปทำบุญจริง | มียมบาล ใช้หอกดาบและฆ้อนเหล็กที่เผาจนลุกเป็นไฟไล่แทงให้ตกลงไปในหลุมถ่านไฟขนาดใหญ่ และมียมบาลอีกพวกหนึ่งใช้จอบตักถ่านมาราดรดลงบนตัวจนร่างไหม้เกรียมและตายไป และฟื้นขึ้นมารับโทษเช่นเดิมวนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ |
โลหกุมภีนรก | ตีหรือทำร้ายพระสงฆ์ สมณะพราหมณ์ผู้ทรงศีล | ถูกยมบาลจับเท้าสองข้างหย่อนหัวลงไปในหม้อโลหะใบใหญ่ที่มีเหล็กหลอมละลายเป็นน้ำเชื่อมอยู่ข้างใน เจ็บปวดจนต้องดิ้นนทุรนนทุรายอยู่อย่างนั้นนานแสนนาน |
โลหกุมภนรก | ทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์ เชือดคอสัตว์ | ถูกยมบาลเอาเชือกเหล็กที่ร้อนแดงเป็นไฟไล่กระหวัดรัดคอแล้วบิดจนคอขาด จากนั้นยมบาลจะเอาหัวไปทอดในหม้อเหล็กแดงใหญ่ขนาดเท่าภูเขาจนตาย จากนั้นก็จะฟื้นคืนกลับมารับโทษเช่นเดิมวนเวียนไปเรื่อย ๆ |
ถูสปลาจนรก | เอาข้าวลีบ แกลบ ฟาง ไปปนกับข้าวดีเพื่อเอาไปขาย ขายผลไม้เน่า และเอาของค้างของเสียมาหลอกขายปนกับของดี | ถูกทำให้หิวน้ำ จึงต้องวิ่งผ่านแผ่นเหล็กแดงร้อนเพื่อไปยังแม่ น้ำและก้มกินน้ำด้วยความกระหาย แต่น้ำนั้นกลายเป็นข้าวลีบและและแกลบที่ติดไฟ เมื่อกินลงไปไฟจึงลุกท่วมทั้งท้องและพุ่งออกทางทวารหนัก เมื่อวิ่งหนีไปหาแผ่นเหล็กก็รู้สึกร้อนจนต้องกลับมากินน้ำและถูกไฟครอกท้องอีกเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ |
ลคติหสลนรก | ลักขโมยเอาของคนอื่น กล่าวร้ายผู้อื่น หลอกให้เจ้าทรัพย์อ่อนแรงแล้วยึดเอาของที่เขาไม่ได้ให้ | ถูกยมบาลถือหอกและเหล็กแหลมยืนล้อมรอบแล้วช่วยกันทิ่มแทงจนแหลกละเอียด จากนั้นก็จะฟื้นขึ้นมารับโทษเช่นเดิมอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ |
สีลกัตตนรก | ฆ่าปลาเอามาแล่ขายกลางตลาด | ถูกยมบาลเอาเชือกเหล็กที่เผาจนร้อนแดงมาคล้องคอแล้วลากไปทอดบนแผ่นเหล็ก จากนั้นเอาหอกและเหล็กทิ่มแทงแล้วฟันด้วยพร้า แล่เนื้ออกเป็นชิ้น ๆ เหมือนเนื้อปลาที่เคยแล่ขาย จากนั้นจะกลับคืนฟื้นขึ้นใหม่มารับโทษเช่นเดิมอีกวนเวียนไปเรื่อย ๆ |
โมราปมิลหนรก | เจ้าเมืองหรือผู้ปกครองที่เรียกเก็บภาษีอากรจากราษฎรมากเกินไป หรือลงโทษต่ด่าว่าร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทารุณ | ถูกทำให้หิวโหยและต้องตักกินสิ่งโสโครก อุจจาระ และของเน่าเหม็น ซึ่งลอยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ส่งกลิ่นเหม็นไกลเป็นร้อย โยชน์ |
โลหิตบุพนรก | ทำร้ายพ่อแม่ พระสงฆ์ ผู้มีบุญคุณแก่ตน และผู้มีศีล | ถูกทำให้หิวโหยและต้องไปตักกินเลือดหนองน่ารังเกียจซึ่งอยู่รวมกันอยู่เป็นแม่น้ำสายใหญ่ พอเลือดและหนองตกถึงท้องก็จะะกลายเป็นไฟลุกไหม้ในท้องจนถึงทวารหนัก |
โลหพลิสนรก | ซื้อของเขาแล้วโกง ให้เงินไม่ครบ ไม่ได้จ่ายแล้วบอกว่าจ่าย หยิบของเกิน ชั่งของเกิน ตั้งใจเอาเปรียบพ่อค้าแม่ค้า | ถูกยมบาลเอาคีมเหล็กดึงลิ้นออกมาแล้วเกี่ยวไว้กับเบ็ดคันใหญ่เท่าลำตาลที่ร้อนเป็นำฟลุกแดงอยู่ตลอดเวลา แล้วลากให้กลิ้งไปมาบนแผ่นเหล็กร้อนและถูกไฟไหม้ไปทั้งตัว จากนั้นยมบาลก็จะเอาหนังออกมาแผ่ เจ็บปวดแสนสาหัสจนสั่นระริกไปทั้งตัวดังปลาที่ถูกจับหักคอ |
สังฆาฏนรก | ผู้ทำผิดศีลข้อ ๓ คือประพฤติผิดในกาม ชายหรือหญิงที่เป็นชู้กับภรรยาหรือสามีชาวบ้าน | ถูกยมบาลเอาหอกทิ่มแทงทั่วทั้งตัวจนเลือดและน้ำหนองไหลทั้งร่าง แต่ร่างกายท่อนล่างนั้นถูกฝังไว้กับแผ่นเหล็กแดงร้อน ยกมือขึ้นเหนือหัวร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด แล้วยังถูกลูกเหล็กขนาดใหญ่เท่าภูเขา ๒ ลูก กลิ้งลงมาหนีบจนลีบแบนเหมือนอ้อยที่ถูกหีบ สิ้นใจตายแล้วฟื้นคืนกลับมารับโทษเช่นเดิมวนเวียนไปเรื่อย ๆ |
วสิรนรก | ทำผิดศีลข้อ ๓ คือประพฤติผิดในกาม เช่นเดียวกับในสังฆาฏนรก | ถูกยมบาลจับเท้าทั้งสองข้าง หย่อนหัวลง แล้วเอาฆ้อนเหล็กที่เผาไฟจนร้อนทุบจนแหลกไปทั้งตัว |
โลหฉิมพลีนรก | ชายที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น หญิงที่มีชู้และประพฤติผิดทำนองคลองธรรมในเรื่องกามารมณ์ ผิดศีลข้อ ๓ เช่นเดียวกับในสังฆาฏนรก | อยู่บนต้นงิ้วที่มีมากเป็นดงป่า ต้นงิ้วแต่ละต้นสูงใหญ่ มีหนามยาวรอบต้น หนามนั้นยาวถึง ๑๖ นิ้ว และเป็นเหล็กติดไฟแดงอยู่ตลอดเวลา ชายกับหญิงที่เป็นชู้กันจะอยู่คนละด้าน หรือถ้าคนใดคนหนึ่งอยู่บนยอดอีกคนหนึ่งจะอยู่ที่โคน ถูกยมบาลเอาหอกดาบ แหลนหลาวที่ร้อนจากการเผาไฟมาทิ่มแทงเท้าให้ปีนขึ้นไปหาคู่ชู้ ถูกคมหนามทิ่มแทงเนื้อตัวจนฉีกขาดและยังถูกไฟไหม้ทั่วทั้งตัว พอใกล้ถึงยอดก็จะเห็นว่าคู้ชู้นั้นกลับลงมาอยู่ที่โคน ผู้อยู่ที่โคนก็จะถูกยมบาลทิ่มแทงให้ต้องเป็นฝ่ายปีนขึ้นไปบ้าง แต่จะไม่มีทางได้ไปถึงตัวกัน วนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป |
มิจฉาทิฏฐินรก | ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ คือ กระทำแต่บาปกรรมไม่เคยทำบุญ | ถูกยมบาลถือหอกดาบแหลนหลาวและอาวุธมีคมทั้งหลาย รวมทั้งฆ้อนเหล็กที่ถูกเผาจนลุกเป็นไฟ ทุบ ตี ฟัน ฆ่า อยู่ตลอดเวลา ให้ได้รับความเจ็บปวดทรมานอย่างไม่มีหยุดพัก |
โลกันตนรก (นรกเย็น)
ในระหว่างนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม ยังมีนรกอีกขุมหนึ่งชื่อ โลกันตรก หรือ นรกเย็น ซึ่งเป็นนรกที่ตั้งอยู่ระหว่างภูมิทั้ง ๓ ภูมิ มีลักษณะเป็นทะเลน้ำกรดเย็นที่มีแต่ความมืดมสนิท แสงอาทิตย์และแสงจันทร์ส่องไปไม่ถึงเพราะอยู่นอกกำแพงจักรวาล โอกาสที่จะได้เห็นแสงสว่างจะมีเพียง ๕ ครั้งเท่านั้น คือ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จสู่พระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และ ปรินิพพาน ผู้ที่ตกนรกขุมนี้จะต้องรับทุกขเวทนาเป็นเวลา ๑ พุทธันดร อันเป็นผลจากการทำกรรมชั่ว เช่น ทรมานประทุษร้ายต่อบิดามารดาและผู้มีศีล รวมถึงการฆ่าตัวตาย ผู้ที่ไปเกิดในนรกขุมนี้จะมีร่างกายสูงถึง ๖,๐๐๐ วา มีเล็บมือเล็บเท้าเหมือนค้างคาว และต้องห้อยตัวติดอยู่กับผนังของนรกเหมือนค้างคาวโดยที่ไม่สามารถมองเห็นกัน เมื่อหิวก็จะปีนป่ายไปตามกำแพงและเมื่อสัมผัสถูกตัวกันก็จะกัดกินกันเอง บ้างก้ตกลงไปบนพื้นที่เย็นจัด ร่างกายก็จะเปื่อยแหลกเหลวแล้วก้ฟื้นขึ้นมารับกรรมใหม่ สวรรค์ หรือ เทวภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่อาศัยของเทวดา (สัตว์อันเป็นทิพย์ที่มีรัศมีสว่างไสวอยู่รอบกายตลอดเวลา) มี ๖ ชั้น เรียกรวมกันว่า ฉกามาพจร ซึ่งหมายถึง ภพภูมิหกชั้น เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ผู้ที่เกิดเป็นเทวดาจะอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันทีโดยไม่ต้องผ่านวัยเด็ก เรียกว่าการกำเนิดแบบ โอปปาติกะ คือไม่ต้องนอนในครรภ์มารดา ส่วนจะได้เกิดในสวรรค์ชั้นใด เป็นเทวดาประเทภใด และอยู่ในฐานะใดนั้น จะขึ้นอยู่กับบุญที่ได้สั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์
ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นแรก อยู่สูงจากพื้นโลก ๔๖,๐๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่เหนือเทือกเขายุคนธรซึ่งเป็นเทือกเขาแรกที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ เป็นดินแดนของผู้มีจิตใจสูงส่งงดงามแต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณอยู่ จาตุมหาราชิกา แปลว่า ดินแดนแห่ง ๔ มหาราช ซึ่งเป็นผู้ปกครองเมือง ๔ เมืองที่ตั้งอยู่ ณ ๔ ทิศของเทือกเขายุคนธร เรียกรวมกันว่า จตุโลกบาล หมายถึง ผู้ดุแลโลกทั้ง ๔ ทิศ
ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐเป็นเจ้าเมือง ปกครองเหล่าคนธรรพ์ ซึ่งเป็นครึ่งเทวดาครึ่งมนุษย์ เป็นนักดนตรีและชอบผู้หญิง ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์เป็นเจ้าเมือง ปกครองพวกนาค ทิศใต้มีท้าววิรุฬหก ปกครองพวกกุมภัณฑ์ คือ ยักษ์จำพวกหนึ่ง มีท้องใหญ่และมีอัณฑะเหมือนหม้อ ทิศเหนือมีท้าวไพศรพเป็นเจ้าเมือง ปกครองพวกยักษ์
ชั้นที่ ๒ ดาวดึงส์ อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๔๖,๐๐๐ โยชน์ มีเทวดาผู้เป็นใหญ่ในชั้นนี้ คือ ท้าวสักกะเทวราช หรือที่เรียกกันว่า พระอินทร์
ชั้นที่ ๓ ยามาภูมิ อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีพระยาสยามเทวราชปกครองอยู่ สวรรค์ชั้นนี้อยู่สูงกว่าการโคจรของพระอาทิตย์ แต่ก็ไม่มืดมิดเพราะมีแสงสว่างจากรัศมีแก้วและรัศมีของตัวเทวดาที่ส่องสว่างอยู่เสมอ
ชั้นที่ ๔ ดุสิตาภูมิ อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นยามาภูมิ ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของพระยาสันดุสิตเทวราช พระโพธิสัตว์ซึ่งได้เสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทะเจ้า และพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทะเจ้าองค์ต่อไปในภายภาคหน้า
ชั้นที่ ๕ นิมมานรดีภูมิ อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิต ๓๓๖,๐๐๐ โยชน์
ชั้นที่ ๖ ปรนิมิตวสวัตติภูมิ อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี ๖๗๒,๐๐๐ โยชน์ มีพระยาปรนิมมิตวสวัตตีปกครองเทวดา และมีพระยามารปกครองเหล่ามาร โดยที่เจ้าเมืองทั้งสองจะไม่พบเจอกันเลยแม้จะอยู่สวรรค์ชั้นเดียวกัน เกี่ยวกับเรื่องนรกและสวรรค์นี้ จะเห็นว่าในหนังสือไตรภูมิพระร่วงไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ บอกแต่เพียงว่าให้อยู่ในศีลธรรม ละเว้นการทำบาป ทำแต่ความดี สร้างบุญกุศลไว้ให้มาก นอกจากนี้ก็จะเน้นเรื่องลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายในสวรรค์อันเป็นความปรารถนาของมนุษย์ ในทางตรงกันข้ามจะมุ่งเน้นหนักไปที่รายละเอียดความน่ากลัวของนรกรวมไปถึงลักษณะการทำชั่วทั้งหลายที่เป็นเหตุให้ตกนรกในแต่ละขุม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไปแต่ก็ครอบคลุมพฤติกรรมการทำบาปของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจริงและมีมากกว่าการทำความดี ดังนั้นจึงมุ่งเน้นให้คนเกิดความกลัวเกรงที่จะทำบาป และขยาดที่จะต้องตกนรกไปรับความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสเหล่านั้น จึงนับเป็นพระปรีชาสามารถอันสูงส่งของพระยาลิไทที่ได้นำศาสนามาซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ง่ายมาใช้เป็นเครื่องมือขัดเกลาสังคมให้เกิดความสงบสุขมากขึ้น จากความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายทั้ง ๓ เรื่องที่ได้นำเสนอไว้นี้ จะเห็นว่าต่างก็ได้รับแนวคิดมาจากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่า ไตรภูมิพระร่วง เป็นยอดวรรณกรรมศาสนาที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อเรื่องภพภูมิและชีวิตหลังความตายของคนไทยมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และคาดว่าความเชื่อเหล่านี้จะยังคงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกตราบนานเท่านาน แม้สังคมจะก้าวผ่านยุคสมัยแห่งโลกาภิวัฒน์และความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ก็มิอาจลบล้างความเชื่อเหล่านี้ให้ลบเลือนไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตหลังความตายจะยังคงเป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบได้ยากและเป็นเรื่องที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว คติความเชื่อทั้งหลายเหล่านี้ได้กลายเป็นกุศโลบายอันเยี่ยมยอดที่ทำให้คนเราทั้งหลายมีความเกรงกลัวต่อการทำบาปหรือการทำความชั่ว ด้วยกลัวว่าจะต้องตกนรกหรือได้รับความทุกข์ความทรมานในภพชาติหน้า ในทางตรงกันข้าม ได้กลายเป็นแรงจูงใจให้ทำแต่ความดีเพื่อจะได้เสวยสุขในสวรรค์ชั้นฟ้า หรือชาติหน้าเกิดมาก็จะมีแต่ความสมบูรณ์พูนสุข มากไปกว่านั้น หากผู้ใดสามารถรู้แจ้งและปฏิบัติตามแนวทางที่องค์พระสัมมาสัมพุธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ได้อย่างเคร่งครัดและสมบูรณ์ คือประกอบแต่ความดีทั้งสิ้น ละเว้นความชั่วทั้งหลาย และตัดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้ ก็จะได้ไปสู่ “นิพพาน” อันเป็นความสุขสูงสุดแท้จริงยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นใด ๆ เป็นความสุขซึ่งหาที่เปรียบมิได้เลย[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]