พระพุทธศาสนากับพิธีกรรมหลังความตาย

พระพุทธศาสนากับพิธีกรรมหลังความตาย

 

โลงศพขายดี โลงศพ จำหน่ายโลงศพ บริการขายโลงศพครบวงจร

พระพุทธศาสนากับพิธีกรรมหลังความตาย ความตายเป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนจะต้องพบเจอ ด้วยไม่มีใครที่จะหนีความตายได้พ้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานเช่นกัน เมื่อความเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือพิธีกรรมหลังความตาย ซึ่งในทางพระพุทธศาสนานั้นจะมีขั้นตอนการจัดพิธีศพดังต่อไปนี้

 

  1. การแต่งหน้าศพ

เมื่อมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล พยายาลจะเป็นผู้แต่งหน้าศพ และแต่งตัวศพให้ในเบื้องต้น ซึ่งจะแต่งให้ผู้เสียชีวิตอยู่ในสภาพที่ดูดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และหลังจากนั้นจะพาร่างของผู้เสียชีวิตเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อทำเอกสารเกี่ยวกับใบมรณบัตรและฉีดฟอร์มาลีนเพื่อป้องกันศพเน่าเปื่อย หลังจากนั้นจึงนำร่างของผู้เสียชีวิตไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

  1. การนำศพไปวัด

เมื่อติดต่อวัดที่ต้องการนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลได้แล้ว ในการนำศพไปวัดอาจติดต่อขอให้ทางวัดจัดรถไปรับศพหรือแจ้งความประสงค์ให้โรงพยาบาลจัดรถส่งศพให้ และนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป มาชักศพที่จะเคลื่อนไปสู่วัดที่นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศล

  1. การรดน้ำศพ

ก่อนที่จะรดน้ำศพ จะต้องมีการตั้งเตียงรดน้ำศพ โดยการตั้งเตียงไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา ให้โต๊ะหมู่บูชาไว้ทางด้านบนศีรษะของศพ นิยมให้ศพนอนหงายหันด้านขวามือของศพ หรือด้านปลายเท้าของศพให้อยู่ทางผู้ที่มาแสดงความเคารพ และใช้ผ้าแพรหรือผ้าใหม่ ๆ คลุมตลอดทั้งร่าง แต่เปิดหน้าและมือขวาไว้นั้น ส่วนในขั้นตอนการรดน้ำศพทางเจ้าภาพจะเป็นผู้เตรียมน้ำอบ น้ำหอม พร้อมขันใส่น้ำผสมน้ำอบน้ำหอม และขันใบเล็ก ๆ สำหรับตักน้ำยื่นให้แขก และขันขนาดใหญ่มีพานรองรับน้ำที่รดมือศพด้วย โดยเวลาที่นิยมในการรดน้ำศพโดยทั่วไปคือเวลา 16.00 – 17.00 น.

  1. พิธีจัดศพลงโลงศพ

หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำศพแล้ว ก็จะเป็นการจัดศพลงโลงศพ โดยส่วนมากผู้ที่ทำพิธีนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของทางวัดเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามคติความเชื่อและประเพณีของท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยแล้วจึงตั้งศพบำเพ็ญกุศลต่อไป

  1. จัดสวดพระอภิธรรม

การจัดพิธีสวดพระอภิธรรม หรือที่เรียกกันว่า “สวดหน้าศพ” เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ และยังเป็นการให้เจ้าภาพ ญาติมิตร ลูกหลาน ได้ร่วมแสดงความกตัญญูกตเวที แสดงความเคารพรักนับถือต่อผู้เสียชีวิตอีกด้วย ทั้งนี้การตั้งศพบำเพ็ญกุศลอาจกำหนด 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ตามแต่สถานของเจ้าที่มีฐานะแตกต่างกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงอายุขัยของผู้เสียชีวิตอีกด้วย และจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม 4 รูป สวด 4 จบ ซึ่งจะเริ่มสวดในเวลา 19.00 น.

  1. พิธีฌาปนกิจ

พิธีฌาปนกิจศพ หรือการเผาศพ เป็นพิธีกรรมเพื่อกล่าวอำลาครั้งสุดท้ายแก่ผู้ล่วงลับ ทั้งยังเป็นวันที่สำคัญที่สุด และพิธีกรรมที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

  • จัดพิธีบวชลูกหลานเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ที่เรียกกันว่า “บวชหน้าไฟ”
  • นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์และถวายภัตาหารเพล
  • จัดให้มีพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์
  • นิมนต์พระสงฆ์สวดมาติกา-บังสุกุล
  • ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ เป็นพิธีบำเพ็ญกุศลหน้าศพ

อุปกรณ์หลัก ๆ ที่เจ้าภาพต้องเตรียม ได้แก่

  • เครื่องไทยธรรม ผ้าสบงถวายพระสวดมนต์ฉันเพล
  • เครื่องไทยธรรมผ้าไตร และเครื่องติดกันเทศน์ถวายพระเทศน์
  • ผ้าไตรประธาน เพื่อทอดบังสุกุล และมหาบังสุกุลก่อนทำการฌาปนกิจ
  • ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกาบังสุกุลตามจำนวนพระสวด โดยส่วนใหญ่มักนิมนต์ 10 รูป
  • เตรียมดอกไม้จันทน์ให้แขกผู้มาร่วมงานและดอกไม้จันทน์สำหรับประธานในพิธี

การเคลื่อนศพไปสู่เมรุ

หลังจากบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายแล้ว ก่อนที่จะเคลื่อนศพไปตั้งที่เมรุนั้น นิยมให้ลูกหลานคนใกล้ชิดทำพิธีขอขมาศพ เพื่อเป็นการอภัยโทษที่กล่าวล่วงเกินต่อกัน โดยตั้งจิต หรือกล่าวคำขอขมาต่อศพนั้นว่า “กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง อะโหสิกัมมัง โหตุ” (ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินต่อท่าน [อาจจะออกนามผู้ตามก็ได้] ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี ขอท่านได้โปรดอโหสิกรรมด้วยเถิด)

พิธีแห่ศพเวียนเมรุ

  • การเคลื่อนศพต้องนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เป็นผู้นำศพ เวียนรอบเมรุ 3 รอบ
  • การเวียนเมรุต้องเวียนต้องเวียนจากขวาไปซ้ายของเมรุ โดยเริ่มจากบันไดหน้าเมรุ
  • เจ้าภาพและญาติของผู้ตายต้องเดินเข้าขบวนตามศพเวียนรอบเมรุด้วย และจะต้องมีผู้ถือรูปถ่ายนำหน้าศพไปในขบวน โดยพระสงฆ์เป็นผู้นำมีคนถือเครื่องทองน้อยหรือกระถางธูปนำหน้าศพ
  • ลำดับการแห่ศพ ถือหลัก พระ – กระถางธูป – รูปภาพ – ศพ – ญาติ
  • เมื่อนำศพเวียนรอบเมรุ 3 รอบแล้วเจ้าหน้าที่จะนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ

การทอดผ้าบังสุกุล

การทอดผ้าบังสุกุลนั้น เจ้าภาพจะต้องพิจารณาว่าแขกผู้มีเกียรติที่เชิญไว้มีจำนวนเท่าใดก็จัดผ้าไตรตามจำนวนแขกผู้ใหญ่ และจำนวนการทอดผ้าก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งการเชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุลนั้น เจ้าภาพจะต้องทำการเชิญแขกด้วยตัวเอง โดยมีผู้ถือพานผ้าไตรตามเจ้าภาพไปด้วย แต่ถ้าแขกที่เป็นประธานเป็นผู้ใหญ่ชั้นสูง หรือเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของเจ้าภาพ ก็ควรถือพานผ้าไตรไปเชิญด้วยตนเอง เมื่อแขกผู้รับเชิญลุกจากที่นั่ง เจ้าภาพหรือผู้ถือพานผ้าไตรก็เดินตามแขกผู้นั้นไป เมื่อขึ้นบันไดเมรุแล้วก็ส่งมอบผ้าไตรให้ ผู้ทอดผ้าก็จะรับผ้าไตรนำไปวางลงตรงที่สำหรับทอดผ้า แต่ถ้าไม่มีการจัดที่สำหรับทอดผ้าไว้ ก็วางผ้าไตรนั้นลงบนหีบศพทางด้านหัวนอนศพ แล้วผู้ทอดผ้าก็คอยอยู่จนกว่าพระสงฆ์จะมาชักผ้าบังสุกุล โดยลำดับการเชิญแขกขึ้นทอดผ้าบังสุกุลนั้น จะเชิญแขกผู้มีอาวุโสน้อยไปหามากตามลำดับ และเชิญประธานในพิธีขึ้นทอดผ้าบังสุกุลเป็นอันดับสุดท้าย เมื่อประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลแล้ว ก็เชิญท่านประกอบพิธีประชุมเพลิงต่อไป

การเผาจริง-เผาหลอก

การเผาจริง-เผาหลอก เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมทำกันในปัจจุบัน โดยจะมีพิธีการเผาหลอกก่อน แล้วจึงเผาจริง คือ การเผาหลอกจะให้แขกผู้มาร่วมงาน ได้วางูปเทียน ดอกไม้จันทน์ที่หน้าศพหรือใต้โลงศพ เพื่อแสดงความเคารพศพ เปรียบเสหมือนการทำพิธีเผาศพโดยสมมติ เมื่อครั้งแขกผู้ร่วมงานได้ทำพิธีเคารพศพโดยสมมติเรียบร้อยแล้ว จึงให้ญาติของผู้เสียชีวิตขึ้นไปทำพิธีเผาศพจริงอีกครั้งหนึ่ง พิธีถึงจะเสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ธรรมเนียมการเผาจริง – เผาหลอก เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ซึ่งแต่เดิมจะมีการฌาปนกิจศพจริงเพียงอย่างเดียว และจำทำกันในช่วงบ่าย – เย็น แต่เกรงว่าการเผาศพจริงจะทำให้เกิดกลิ่น ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนลำคานให้แก่ผู้มาร่วมงาน จึงเกิดธรรมเนียมใหม่คือ ให้มีการปิดโลงศพก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลามได้ ต่อเมื่อผู้มาร่วมงานได้กลับไปหมดแล้วจึงทำการเผาจริง โดยให้เหลือแต่เพียงเจ้าภาพและญาติสนิทเท่านั้น

ดังความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกไว้ เกี่ยวกับที่มาของพิธีเผาจริงและเผาหลอก ว่า “…แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวงในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพเดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิง จึงปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสียและคอยระวังถอนธุปเทียนออกเสียจากภายใต้ เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ตอนดึกเมื่อผู้คนไปช่วยงานกลับกันหมดแล้ว จึงเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ …ดังนั้นจึงเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิทเผาอีกครั้ง 1 เมื่อเปิดเพลิงกรมนเรศร์ เป็นผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเป็นผู้ตั้งศัพท์ เผาพิธี และ เผาจริง ขึ้น…”

  1. การเก็บอัฐิ

ในการกำหนดเวลาเก็บอัฐินั้นสุดแล้วแต่เจ้าภาพจะต้องการ โดยนิยมปฏิบัติกัน 2 แบบคือ

  • ทำพิธีเก็บอัฐิในวันเผา : ใช้ปฏิบัติในงานฌาปนกิจศพที่จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลอัฐิติดต่อกัน เพื่อรวบรัดงานให้เสร็จภายในวันนั้น
  • ทำพิธีเก็บอัฐิในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น : ใช้ปฏิบัติในงานเผาศพที่เจ้าภาพ ประสงค์จะทำบุญอัฐิในวันรุ่งขึ้น (ทำบุญสามหาบ) หรือยังไม่จัดทำบุญอัฐิเพราะยังไม่พร้อม
  • จ้าภาพต้องแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ของวัดทราบ และจัดเตรียมโกศสำหรับบรรจุอัฐิ น้ำอบหรือน้ำหอม ดอกไม้ และอาหารคาวหวานสำหรับถวายพระสงฆ์
  • โดยนิมนต์พระสงฆ์มาพิจารณา “บังสุกุลอัฐิ” หรือที่เรียกว่า “แปรรูป” หรือ “แปรธาตุ”
  • ในการเก็บอัฐินั้น เจ้าหน้าที่สัปเหร่อ นิยมทำพิธีแปรธาตุ คือ นำเอาอัฐิของผู้ตายที่เผาแล้ว มาวางเป็นรูปร่างคน โดยวางโครงร่างให้หันหัวไปทางทิศตะวันตกแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ให้พิจารณา “บังสุกุล ตาย” ก่อน แล้วแปรธาตุโครงร่างกระดูกให้หันหัวไปทางทิศตะวันออก แล้วนิมนต์พระสงฆ์ให้พิจารณา “บังสุกุลเป็น” อีกครั้งหนึ่ง
  • ต่อจากนั้นจึงให้เจ้าภาพเก็บอัฐิใส่โกศ โดยเลือกเก็บอัฐิจากร่างกาย รวม 6 แห่ง คือ กะโหลกศีรษะ 1 ชิ้น แขนทั้ง 2 ขาทั้ง 2 และ ซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น
  • ส่วนอัฐิที่เหลือ รวมทั้ง “อังคาร” (ขี้เถ้า) ทั้งหมดนิยมกวาดรวมเก็บใส่ลุ้งหรือหีบไม้ แล้วเอาผ้าขาวห่อเก็บไว้ เพื่อนำไปบรรจุในที่อันเหมาะสมหรือนิยมนำไปลอยในทะเล
  • เมื่อเก็บอัฐิเสร็จแล้ว นำอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาพิจารณาบังสุกุล (หรือปัจจุบันจะนิยมทำแบบย่อ คือ หลังจากพระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้ว ก็ประเคนไทยธรรมบนเมรุเลย)

 

พิธีศพ เป็นการไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้เสียชีวิต และยังเป็นการจากลาที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาทุกคนก็ต้องพบกับความตาย ไม่อาจหนีพ้นได้ สำหรับใครที่ต้องปรึกษาหรือสอบถามเกี่ยวกับการจัดงานศพหรือบริจาคโลงศพ ทางร้านสุริยาหีบศพ มีเจ้าหน้าที่คอยบริการตลอด 24 ชม. เลยค่ะ การตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้นจงใช้ชีวิตอย่างมีสติ จะทำอะไรให้คิดก่อนเสมอ จงทำแต่ความดีด้วยนะคะ

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ตามช่องทางด้านล่างนี้เลยค่ะ

Inbox : m.me/suriyafuneral/

Tel : 02-950-0989 (ติดต่อได้ตลอด 24 ชม.)

Website : https://www.suriyafuneral.com/

ให้เราดูแลคุณ จนถึงวินาทีสุดท้าย